การตลาดแบบ “Cute Marketing” ที่มีแต่ความน่ารัก

ความนิยมในประเทศไทยในปีนี้ ไม่ว่าจะฟิกเกอร์ป๊อปมาร์ท น้องหมีเนยบัตเตอร์แบร์ หรือกระแสล่าสุดอย่างน้องหมูเด้ง ฮิปโปแคระตัวน้อยที่ความนิยมไม่ได้ครอบคลุมเพียงแค่ที่ประเทศไทยแต่ยังดังไปไกลทั่วโลกถึงขนาดที่สื่อดังในต่างประเทศอย่าง TIME หรือแม้แต่ CNN BBC และสื่ออื่นๆ อีกมากมายที่ต่างพร้อมใจเข้ามาเกาะกระแสน้องหมูเด้ง ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ทางการตลาดที่คล้ายคลึงกันคือการชูความ ‘ความน่ารัก’ เป็นจุดดึงดูดความสนใจให้กลุ่มเป้าหมายเกิดภาพจำและรู้สึกอยากได้อยากมีจนเกิดการซื้อสินค้าในที่สุด ตัวอย่างเหล่านี้ถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่เรียกว่า “Cute Marketing” ซึ่งการกลยุทธ์ทางการตลาดนี้มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อธิบายเบื้องหลังด้วยเช่นกัน

ผลการศึกษาชี้ว่าความน่ารักส่งผลให้เราเกิดความสนใจและอยากครอบครองเพิ่มมากขึ้น งานวิจัยของ University of Oxford ในปี 2016 ได้ให้คำตอบว่าความน่ารักส่งผลอย่างไรต่อสมองและพฤติกรรมของเรา โดยผลการศึกษาระบุว่าความน่ารักยังช่วยกระตุ้นเร่งการทำงานของสมองในส่วน Orbitofrontal Cortex ที่เชื่อมโยงกับอารมณ์และความพึงพอใจของมนุษย์ ซึ่งอาจกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกอยากปกป้องคล้ายกับความรู้สึกที่พ่อแม่มักรู้สึกต่อลูกของตัวเองได้เช่นกัน นอกจากนี้บทความของ Vice ยังกล่าวถึงปฏิกิริยาแบบ Cute Aggression หรือการเห็นความน่ารักแล้วเกิดความรู้สึก ‘มันเขี้ยว’ เกิดจากการที่ฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกดีอย่าง Dopamine พุ่งสูงขึ้น ทำให้เกิดการปลดปล่อยอารมณ์หรือพลังงานออกมาจากความรู้สึกที่เอ่อล้นขึ้นมาในลักษณะของความรู้สึกมันเขี้ยวนั่นเอง

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ความน่ารักเหล่านี้จะกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกพึงพอใจ ชื่นชอบ และอาจนำไปสู่ความอยากได้อยากซื้อในที่สุด ตัวอย่างที่อาจเห็นได้ชัดในประเทศไทยก็มีอย่างเช่น Pop Mart ร้านที่รวบรวมฟิกเกอร์ตัวจิ๋วที่ได้รับความนิยมสูงในช่วงหนึ่ง นอกจากการเกาะกระแสของคนไทยแล้ว ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Pop Mart ประสบความสำเร็จมาจากความน่ารักของหุ่นจำลองตัวจิ๋วที่ทำให้หลายคนอยากจับซื้อจับจองเป็นเจ้าของกัน หรือน้องหมีเนย Mascot สุดฮิตจากร้าน Butterbear ที่มีความน่ารักทั้งรูปร่างหน้าตาและท่าทางการแสดงออกจนทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกหลงรักจนกระทั่งจองคิวซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้องหมีเนยในที่สุด อีกทั้งด้วยการสร้างเรื่องราวให้น้องหมีเนยมีความเป็นเด็กน้อย เช่น การเรียนอยู่ในชั้นอนุบาล การให้แฟนคลับช่วยตรวจการบ้าน เป็นต้น ยังส่งเสริมความรู้สึกน่าเอ็นดูในความน่ารักของน้องหมีเนยไปอีกด้วยเช่นกัน หรือตัวอย่างล่าสุดอย่างหมูเด้ง ฮิปโปแคระที่อายุประมาณ 2 เดือนจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวที่ดังไกลไปถึงต่างประเทศจนก่อให้เกิดมีม (Meme) กระจายในอินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลายจากความน่ารักน่าเอ็นดูของน้องฮิปโปเกิดใหม่ตัวนี้

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่สามอย่างยอดฮิตมีเหมือนกันอย่างหนี่งก็คือ ความน่ารัก ที่ใช้มาเป็นจุดขายได้อย่างดี สามกรณีนี้อาจเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความสนใจและอยากดึงดูดลูกค้าให้เกิดภาพจำและมีการซื้อสินค้าอาจนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองก็เป็นได้

ที่มาของข้อมูล/ภาพ: University of Oxford, Vice, Mental Floss, Spring News, Workpoint Today

Contact
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สอบถามทางโทรศัพท์
+66 2 677 7270-5
10th Floor, Q. House Lumpini Building,
No. 1 South Sathorn Road, Tungmahamek, Sathorn, Bangkok 10120, Thailand