ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต หรือที่เรียกว่าไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) ที่มีการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเพื่อการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลากหลายธุรกิจได้นำนวัตกรรม อาทิ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และการประมวลผลผ่านระบบคลาวด์ (Cloud Computing) มาช่วยเสริมสร้างจุดแข็งและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลกลายเป็นหนึ่งในอุสาหกรรมที่น่าจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ร่วมกับสถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) คาดการณ์ว่าในปี 2564 อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าถึง 700,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10% จากปี 2563 ซึ่งมีมูลค่า 650,514 ล้านบาท
ทางด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องกับการยกระดับสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมที่มีจำนวนคำขอรับการลงทุนมากที่สุดถึง 126 โครงการ หรือคิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 8,970 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 763% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 กิจการที่ได้รับการอนุมัติจะได้รับสิทธิพิเศษในการลงทุนทั้งทางด้านภาษีและด้านอื่นที่ไม่ใช่ภาษี ไม่ว่าจะเป็น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ การอนุญาตให้ช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการเข้ามาทำงาน การอนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน การอนุญาตให้บริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นข้างมากดำเนินธุรกิจ เป็นต้น โดยกิจการที่สามารถขอรับการสนับสนุนประกอบด้วยกลุ่มย่อย ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 การพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล หรือ ดิจิทัลคอนเทนต์(Software Development, Digital Platform Service or Digital Content) เช่น ดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital content) บริการดิจิทัล (Digital services) และอีคอมเมิร์ซ (E-commerce)
- กลุ่มที่ 2 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure)เช่น ศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) บริการคลาวด์ (Cloud Service) และเคเบิ้ลใต้น้ำ (Submarine Cable)
- กลุ่มที่ 3 ธุรกิจที่สนับสนุนระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem Supported Business) เช่น ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม (Innovation Incubation Center) เมกเกอร์สเปซ/ห้องปฏิบัติการประดิษฐ์นวัตกรรม (Maker Space / Fabrication Laboratory) และพื้นที่ทำงานร่วมกัน (Co-Working Space)
จากโอกาสในการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและสิทธิพิเศษในการลงทุนที่ได้จะรับจาการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล ภาคธุรกิจต่างตื่นตัวในการให้ความสำคัญกับการลงทุนทั้งเพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว จะสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
ท้ายที่สุด SBCS พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทย และการเติบโตทางธุรกิจของท่านผ่านบริการที่หลากหลาย อาทิ การศึกษาและวิเคราะห์การตลาดเชิงลึก การศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ การให้คำแนะนำในการลงทุน การจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น