อนาคตอุตสาหกรรมแบตเตอร์รี่ไฟฟ้าในประเทศไทยกับโอกาสการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ

จำนวนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในประเทศไทยมีข้อมูลยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าปี 2020 ที่เติบโตมากถึง 128.4% เมื่อเที่ยบกับปีที่ผ่านมา โดยกรุงเทพธุรกิจเผิดเผยว่า จากเดือนมกราคม ถึงสิงหาคม 2021 ประเทศไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ จำนวน 33,819 คัน ในขณะที่ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย พยายามผลักดันให้มียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 1.2 ล้านคันในปี 2036

ในระดับภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก อาทิเช่น แบตเตอรี่ ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ออกแนวทางการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบาย 30/30 คือการตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ZEV (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 อีกทั้งมีแผนการขยายสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าสาธารณะให้เพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้มีสถานีแบบ Fast Charge (DC) ทั้งหมด 12,000 หัวจ่าย ทั่วประเทศ รวมทั้ง เสนอให้มีการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่มาจากประเทศอื่นๆ ให้เป็น 0% นอกเหนือจากการนำเข้ามาจากประเทศจีน

ในขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม โดยกิจการธุรกิจที่ผลิตรถไฟฟ้าแบบแบตเตอรีเป็นหลัก (Battery Electric Vehicle: BEV) จะได้รับสิทธิละเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี แต่หากลงทุนต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้สิทธิละเว้นเพียง 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 หรือ มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี เป็นต้น

ซึ่งในการผลิตแบตเตอร์รี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั้น ถือเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ดังสะท้อนให้เห็นได้จากกระแสการเกิดขึ้นของบริษัทผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น การจับมือเป็นพาร์ทเนอร์ (partner) สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ร่วมกันระหว่างแบรนด์ใหญ่ระดับโลก อาทิเช่น Tesla ร่วมกับ LG Chem Panasonic และ CATL (Contemporary Amperex Technology Limited) โดยในส่วนของอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศไทยเริ่มมีการเปลี่ยนผ่านนโยบายบริษัท ให้สอดคล้องกับการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของโลก ซึ่งปัจจุบันมี 3 บริษัทใหญ่ที่เป็นผู้เล่นหลักที่อยู่ในอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วย 1) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA 2) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ 3) EVLOMO บริษัทจากสหรัฐฯ และบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ได้จับมือลงนามใน MOU ร่วมทุนกัน ดำเนินโครงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อเก็บพลังงานไฟฟ้า ขนาดการผลิต 8 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ด้วยงบประมาณการไฟ้ลงทุน 33,000 ล้านบาท จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจำนวนพฤติกรรมการใช้รถไฟฟ้าในประเทศไทย การกำหนดวิสัยทัศน์ และเป้าหมายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรองรับเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้มีขีดความสามารถการแข่งขันระดับโลก นโยบายทางภาษีเพื่อการสนับสนุนการลงทุน และยังรวมไปถึงการสร้างอุปสงค์รถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในประเทศไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ และการขยายโอกาสเป็นวงกว้างไปยังบริษัทต่างชาติ อาทิเช่น ญี่ปุ่น ให้หันกลับมามองประเทศไทย เพื่อการลงทุน รวมถึงผลักดันให้เกิดการพัฒนา และต่อยอดในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ต่อไปในอนาคต

Contact
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สอบถามทางโทรศัพท์
+66 2 677 7270-5
10th Floor, Q. House Lumpini Building,
No. 1 South Sathorn Road, Tungmahamek, Sathorn, Bangkok 10120, Thailand