ซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้และบริบทของประเทศไทย

ด้วยกระแสของการโปรโมทซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ในประเทศไทย รวมไปถึงการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้หลายคนเริ่มหันมาให้ความสนใจ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้เห็นกระแสของเกาหลีฟีเวอร์ที่เผยแพร่ไปทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หรือแม้แต่การส่งออกละครจากจีนและกระแส J-Trend ที่ส่งออกจากญี่ปุ่นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งโดยสรุปแล้วอาจตีความได้ว่าซอฟต์พาวเวอร์นั้นคืออำนาจหรือความสามารถของประเทศที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่นเพื่อให้ได้รับการยอมรับหรือได้มาในสิ่งที่ต้องการได้ ทั้งนี้ ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้หมายรวมถึงแค่การโปรโมทเชิงวัฒนธรรมเพียงเท่านั้น โดย Josh Nye ผู้ริเริ่มแนวคิดดังกล่าวได้กล่าวถึงที่มาทั้ง 3 แหล่งของซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายการต่างประเทศ ที่เป็นหัวใจหลักส่งเสริมความสามารถในการโน้มน้าวให้เกิดการยอมรับ ความเชื่อ หรือแม้กระทั่งแรงจูงใจต่างๆ ที่จะนำมาสู่ประโยชน์ของประเทศเจ้าของซอฟต์พาวเวอร์ได้ในที่สุด

จากการจัดอันดับประเทศที่มีซอฟต์พาวเวอร์มากที่สุดในปี 2023 (Global Soft Power Index 2023) โดย Brand Finance พบว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีซอฟต์พาวเวอร์ทรงอิทธิพลมากที่สุด โดยเฉพาะอิทธิพลของวงการหนังฮอลลีวูดหรือแนวคิดเชิงเสรีที่สามารถแทรกซึมได้ในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยแล้วเราอาจเห็นตัวอย่างของซอฟต์พาวเวอร์ที่ชัดเจนได้จากอิทธิพลของประเทศแถบเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ (อันดับ 15 ของ Global Soft Power Index 2023) ผู้ส่งออกกระแส Hallyu หรือ Korean waves เพื่อโปรโมทวัฒนธรรมเกาหลีและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศในการส่งออกสินค้าและบริการในวงการอาหาร ซีรี่ส์-ภาพยนต์ ดนตรี และเกมออนไลน์ โดยกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นประกอบกับการผลักดันผ่านนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จนสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้นำของโลกได้ในที่สุดไปพร้อมกับกระแสความนิยมที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาของ Korean Foundation for International Cultural Exchange (KOFICE) ที่สรุปว่ากระแสการส่งออก Hallyu ได้สนับสนุนมูลค่าการส่งออกของเกาหลีใต้มากถึง 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019

สำหรับประเทศไทยที่อยู่อันดับที่ 41 ของโลกและอันดับที่ 3 ในภูมิภาคอาเซียนในการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2023 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย วัฒนธรรมไทยและภาพลักษณ์ความเป็นไทยค่อนข้างเป็นที่รู้จักในบริบทโลก สังเกตได้จากกระแสความนิยมอาหารไทย มวยไทย ชุดไทย หรือแม้แต่ชุดนักเรียนที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีนเมื่อไม่นานมานี้ ถึงอย่างนั้นกระแสดังกล่าวก็ยังขาดการกระตุ้นจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เพียงพอ ถึงแม้วัฒนธรรมไทยจะเป็นที่รู้จัก แต่การทำให้กระแสความรู้จักนี้อยู่ต่อไปได้และได้รับการยอมรับจนถึงระดับที่ส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจมหาศาลอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ด้วยการนำร่องนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่าง 5F (Food, Film, Fashion, Fighting, Festival) ของรัฐบาลชุดก่อนและการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เราอาจเห็นภาพการส่งออกวัฒนธรรมของประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ อย่างเหมาะสมเพิ่มมากขึ้นในอนาคตก็เป็นได้

ที่มา: Foreign Policy, Brand Finance, KOFICE, Korean Economic Institute (KEI), ASEAN, MGR online, Positioning

Contact
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สอบถามทางโทรศัพท์
+66 2 677 7270-5
10th Floor, Q. House Lumpini Building,
No. 1 South Sathorn Road, Tungmahamek, Sathorn, Bangkok 10120, Thailand