วัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่นในสังคมไทยนั้นปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปและมีรูปแบบที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นที่ปรากฏเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภท ข้าวปั้น ปลาดิบ อาหารชุด ปิ้งย่าง หรือชาบูชาบู ฯลฯ ซึ่งอาหารญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่นิยมโดยทั่วไปในประเทศไทยมานาน
จากมูลค่าตลาดและการเจริญเติบโตของร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยที่มีอย่างต่อเนื่อง องค์กรส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันดีในนาม “เจโทร” (Japan External Trade Organization: JETRO) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่การกระชับสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น รวมถึงช่วยส่งเสริมเผยแพร่อุตสาหกรรมอาหารญี่ปุ่น และให้การสนับสนุนร้านอาหารญี่ปุ่นให้เป็นที่แพร่หลายในทุกภูมิภาคของประเทศไทยได้จัดทำรายงาน “ผลการสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำปี 2566” พบว่า แนวโน้มของจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นทั้งหมด 5,751 ร้าน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 จากปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนร้านเพิ่มขึ้น 426 ร้าน
แผนภูมิจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย (หน่วย:ร้าน)
จากการเปรียบเทียบข้อมูลปี พ.ศ. 2561 กับ พ.ศ. 2566 พบว่าจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ในขณะที่เขตพื้นที่ปริมณฑลเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า และเขตพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า โดยมีจำนวนร้านโดยรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้น 1.9 เท่า ซึ่งจากการสัมภาษณ์และสอบถามข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นหลายๆ แห่งโดยเจโทร ได้ให้ความเห็นว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจบางประการ อาทิเช่น การปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภค และแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงตลิดเวลาของผู้บริโภคชาวไทย รวมถึงการนำเสนอเมนูอาหารญี่ปุ่นที่เหมาะสมกับผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย อย่างไรก็ตามร้านอาหารญี่ปุ่นยังคงเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยว และจังหวัดที่มีประชาการอาศัยอยู่ในพื้นที่มาก
โดยล่าสุด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทาง YUZU GROUP จากบริษัท ส้มพาสุข จำกัด เตรียมทุ่มงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท เพื่อเปิดร้าน Yuzu Suki (ยูซุ สุกี้) สาขาอารีย์ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะเป็นสาขาลำดับที่ 7 ของแบรนด์ โดยสาขานี้มีขนาดพื้นที่ขนาด 230 ตารางวา และเป็นโมเดล Stand Alone (สแตนด์อโลน) สาขาแรกในประเทศไทย ซึ่งปรมินทร์ เปรื่องเมธางกูร Founder & CEO ให้เหตุผลสนับสนุนการเปิดตัวธุรกิจนี้ว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปี 2567 มีแนวโน้มที่ส่งสัญญาณที่ดี และมีการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
จากภาพรวมข้างต้น ผู้เขียนมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย จนทำให้ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะประกอบด้วย คุณภาพจากวัตถุดิบหลักของอาหาร หมายถึง วัตถุดิบมีความสดใหม่ นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรรักษามาตรฐานของวัตถุดิบ และรสชาติให้ดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค รวมถึงการให้ความสำคัญเรื่องตำแหน่งที่ตั้งและสถานที่ ร้านที่มีการตกแต่งร้านดูสวยงาม มีสไตล์เป็นของตนเอง และอยู่ในพื้นที่ที่เดินทางไปได้สะดวก องค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยยังคงได้รับความนิยมต่อทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไป