ปัญหาการใช้AI ในวงการศิลปะ

ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยคงเห็นได้ชัดสำหรับคนที่อยู่ในวงการศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นนักวาด นักเขียน หรือผู้เสพผลงานต่างก็อาจเคยผ่านตากับการนำผลงานไปใช้ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ก็คือการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ แต่เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น หากมองในอีกมุมหนึ่งก็เป็นเสมือนกรณีตัวอย่างในการให้ความรู้แก่คนทั่วไปด้วยเช่นกัน ทำให้ในช่วงหลายปีถัดมาก็เริ่มมีกลุ่มคนที่เข้าใจในเรื่องของลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยปัจจุบันที่เริ่มมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผนวกในชีวิตประจำวันหรือกิจกรรมต่างๆ กลับทำให้ศัตรูที่น่ากลัวอีกอย่างของผู้สร้างสรรค์ผลงานก็คือ AI นั่นเอง

คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการกลับมาของ AI ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม โดย AI ไม่ได้เป็นที่นิยมเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้งาน Chatbot หรือผู้พัฒนา Algorithm บน Social Media เท่านั้น ความนิยมในการใช้ AI ยังเห็นได้ชัดในวงการศิลปะเช่นกัน ด้วยการพัฒนาโปรแกรม AI ขึ้นมามากมายของผู้พัฒนาให้ทันกับความนิยมที่กำลังเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ในปัจจุบันเราสามารถเลือกสรรการใช้ AI ได้ในหลายกิจกรรมเลยทีเดียว โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ภาพจากแค่การป้อนข้อมูลหรือ Keyword เข้าไปเพียงเท่านั้น ความนิยมในส่วนนี้ก่อให้เกิดเทรนด์ในการนำ AI มาใช้กับงานศิลปะอย่างเห็นได้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแนวคิดหลักของ AI นั้นคือการเป็นสมองกลอัจฉริยะที่สามารถเรียนรู้ชุดข้อมูลที่ผู้พัฒนาป้อนให้และสร้างข้อมูลใหม่ขึ้นมาจากการเรียนรู้นั้น และยังมีจุดที่คล้ายกับสมองของมนุษย์คือเมื่อ AI ได้เรียนรู้จากชุดข้อมูลปริมาณมากขึ้น มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ความรู้ความเข้าใจของ AI และคุณภาพในการสร้างข้อมูลใหม่ก็พัฒนาตามขึ้นไปด้วยอีกเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้ AI อย่างมีคุณภาพมากที่สุด ผู้พัฒนาบางรายก็เลือกใช้ชุดข้อมูลขนาดใหญ่จากอินเตอร์เน็ต โดยปัญหาที่แท้จริงของประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์เริ่มต้นที่จุดนี้ กล่าวคือแหล่งที่มาของชุดข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านี้อาจมาจากการรวบรวมผลงานของศิลปินหลายรายที่ไม่ได้ยินยอมให้นำผลงานเหล่านี้ไปใช้ต่อนั่นเอง ผู้วาดบางรายพบว่าภาพวาดของ AI บางงานก็มีลายเส้นที่คล้ายคลึงกับตัวเองมากเหลือเกิน และเมื่อเข้าไปศึกษาว่า AI นี้มีการเรียนรู้จากชุดข้อมูลแหล่งใด ก็ดันพบว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่นำผลงานนักวาดมาใช้ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือเป็นแหล่งข้อมูลที่นักวาดมีการลงผลงานไว้จริงแต่ไม่ได้อนุญาตให้ผู้ใดนำข้อมูลชุดนี้ไปใช้ต่อ พอเริ่มมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นกับนักวาดหลายราย ก็เริ่มก่อให้เกิดคำถามในสังคมว่าการใช้ AI ในงานศิลปะนี้ถูกกฎหมายด้านลิขสิทธิ์หรือไม่

หากพิจารณาในประเด็นกฎหมายแล้ว การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ (Copyright) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้สร้างผลงานในการนำผลงานไปสร้างใหม่ เผยแพร่ ขาย หรือแจกจ่ายต่อ หากอ้างจากการตีความของผู้พิพากษาศาลแขวง Beryl A. Howell ในสหรัฐอเมริกาในกรณีของการร้องเรียนลิขสิทธิ์ในภาพวาดที่สร้างโดย AI แล้ว การได้มาของลิขสิทธิ์นี้ มนุษย์อาจต้องมีส่วนร่วมด้วยในทางใดทางหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าว ทั้งนี้ กฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบัน ไม่ว่าของสหรัฐอเมริกาหรือของประเทศไทยยังเป็นการบัญญัติในภาพกว้างโดยไม่ครอบคลุมถึงสิทธิ์ของผู้สร้างผลงานที่มีการนำ AI หรือเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้ร่วมด้วย โดยในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการเปิดเผยกรณีการฟ้องร้องการละเมิดลิขสิทธิ์ของ AI เป็นสาธารณะหรือเป็นทางการทำให้ยังไม่เห็นทิศทางในการตีความในเรื่องดังกล่าวเหมือนอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาที่กล่าวมาข้างต้น

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จากการนำ AI มาใช้เลยทีเดียว เพราะที่ผ่านมาก็มีอย่างกรณีของศิลปิน Kris Kashtanova ที่สามารถจดลิขสิทธิ์ผลงานของเขาที่ใช้ AI มาช่วยสร้างตัวละครและเนื้อเรื่องสำหรับหนังสือการ์ตูนของเขาได้ อย่างไรก็ตาม กรณีของ Kris นั้นถือว่าเข้าข่ายการตีความของผู้พิพากษา Howell ที่ว่ามนุษย์ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานนั้นด้วย เนื่องจาก Kris ใช้ AI ประกอบการทำงานของเขาเพียงเท่านั้น โดยที่เขายังมีการเรียบเรียงและจัดรูปแบบเนื้อหาต่างๆ ด้วยตนเองอยู่

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างของการใช้ AI ในวงการศิลปะเพียงเท่านั้น ในโลกปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอย่างมากมาย อาจมีประเด็นอื่นที่ยังต้องถกเถียงกันเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งอาจเป็นเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมายที่มนุษย์อาจยังไม่สามารถจินตนาการถึงก็เป็นได้ ดังนั้น การตีความกฎหมายใหม่โดยพิจารณาถึงเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วนแล้วก็เป็นได้

ที่มา: The Verge, Springnews, Techpolicy, Rainmaker, TNN news, Siamblockchain

Contact
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สอบถามทางโทรศัพท์
+66 2 677 7270-5
10th Floor, Q. House Lumpini Building,
No. 1 South Sathorn Road, Tungmahamek, Sathorn, Bangkok 10120, Thailand