การบริโภคอลูมิเนียมทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปีและมีแนวโน้มจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป จากรายงานของ UOB Industry Insight พบว่า อุตสาหกรรมที่มีความต้องการของการใช้อลูมิเนียมคืออุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมยานอวกาศ ทั้งนี้ความต้องการอลูมิเนียมของทั่วทั้งโลกมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ถึงร้อยละ 3.8 ต่อปีในช่วงปี 2562-2567 ซึ่งสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่า ความต้องการใช้อลูมิเนียมในตลาดโลกปี 2565 คาดว่าจะมีปริมาณ 70 ล้านตัน ส่วนในปี 2567-2568 คาดว่าจะมีความต้องการอลูมิเนียมมากกว่าเดิม เนื่องจากแนวโน้มตลาดด้านรถยนต์ไฟฟ้า, แผงโซลาร์ และกังหันพลังงานลม EV ซึ่งมาจากนโยบายการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ทั่วโลก
ในส่วนของประเทศผู้ผลิตนั้น จากรายงานของ investingnews พบว่าในปี 2565 ประเทศจีนยังคงเป็นอันดับหนึ่งที่สามารถส่งออกอลูมิเนียมไปยังประเทศอื่นๆ ได้มากที่สุดถึง 40 ล้านเมตริกตัน ตามด้วย อินเดียเป็นอันดับสอง (4.0 ล้านเมตริกตัน) และรัสเซีย (3.7 ล้านเมตริกตัน) ตามลำดับ
ประเทศที่ส่งออกอลูมิเนียมมากที่สุดในปี 2565 | ปริมาณการส่งออก (หน่วย: ล้านเมตริกตัน) |
1.ประเทศจีน | 40 |
2.ประเทศอินเดีย | 4.0 |
3.ประเทศรัสเซีย | 3.7 |
4.ประเทศแคนาดา | 3.0 |
5.ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | 2.7 |
โดยประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าอลูมิเนียมจากจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้วัสดุอลูมิเนียมมาเป็นชิ้นส่วนย่อย เพราะเป็นโลหะทางเลือกใน งานยานยนต์เพื่อประกอบเป็นชิ้นส่วนต่างๆ เช่นขาเหยียบรถปิกอัพ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ ตัวครีบระบายความร้อนในแอร์ เป็นต้น โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2565) ประเทศไทยมีอัตราการนำเข้าอลูมิเนียมเติบโตอย่างตัวเนื่อง ปี 2560 (153,808 ตัน) ปี 2561 (205,485 ตัน) ปี 2562 (225,649 ตัน) ปี 2563 (207,697 ตัน) ปี 2564 (271,206 ตัน) และปี 2565 (334,330 ตัน)
แต่ในทางกลับกัน จากตัวเลขการเติบโตของการนำเข้าอลูมิเนียมจากประเทศจีน ทำให้กลุ่มผู้ผลิตอลูมิเนียมของไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งภัยคุกคามจากสินค้านำเข้าอลูมิเนียมจากจีนนี้ มีการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่องภายในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างกลยุทธ์การนำเข้าอลูมิเนียมจากจีน คือ การซื้อขายอลูมิเนียมจะมาทั้งชุด มีการกำหนดสเปค (specification) ต้องเป็นสินค้าจากประเทศจีน ผู้รับเหมาต้องจากประเทศจีน ซึ่งแฝงเข้ามาจากสินค้าแบบกึ่งผูกขาดเบ็ดเสร็จ ซึ่งผู้เขียนมีความคิดว่า หน่วยงานภาครัฐควรให้ความสนใจ อาทิเช่น กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือหน่วยงานอื่นๆ ควรพิจารณาเรื่องมาตรการควบคุมราคา มาตรการภาษีนำเข้า หรือแม้กระทั่งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด( Anti-dumping) ของการนำเข้าอลูมิเนียมจากประเทศจีน เพื่อรักษาสิทธิของผู้ประกอบการในประเทศไทยกับจีน ให้เกิดความเท่าเทียมให้ได้มากที่สุดต่อไป
Source: