เข้าใจ AI และกระแสการนิยม AI อีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นจาก ChatGPT

หลังจากกระแสของ AI Chatbot อย่าง ChatGPT พัฒนาโดย OpenAI ที่เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วด้วยความสามารถในการโต้ตอบกับผู้ใช้งานอย่างราบรื่นเหนือระบบ AI อื่นๆ ที่ให้บริการในขณะนั้น ก่อให้เกิดกระแสการพูดถึงเทคโนโลยี AI รวมไปถึงการพัฒนา AI Chatbot ใหม่ๆ ของบริษัทเทคโนโลยีรายอื่นตามมาในช่วงต้นปีนี้ โดยหลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าทำไม AI ถึงกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งในเมื่อเราก็ค่อนข้างคุ้นเคยกับคำว่า AI และการใช้งานมาร่วมหลายปีแล้ว โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้บางคนอาจต้องมีประสบการณ์ใช้ระบบ AI ผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของออนไลน์ การติดต่อสายการบิน หรือแม้แต่การใช้แอปพลิเคชันเปลี่ยนใบหน้าด้วยระบบ AI ที่เป็นกระแสอยู่พักหนึ่ง ซึ่งยิ่งตอกย้ำให้เราเห็นว่า AI ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ทั้งนี้ ก่อนที่จะเริ่มหาคำตอบว่าทำไม AI ถึงกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งได้มากถึงเพียงนี้ เราควรศึกษาความหมายและลักษณะของ AI ให้เข้าใจกันเสียก่อน

ระบบ AI (Artificial Intelligence) หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” เป็นเทคโนโลยีที่นำระบบคอมพิวเตอร์มาเรียนรู้ชุดข้อมูลต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา วิเคราะห์ สื่อสาร คาดการณ์ในสถานการณ์ต่างๆ หรือแม้แต่การทำงานอื่นๆ ที่เปรียบได้กับความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจของมนุษย์ ดังนั้น จึงกล่าวโดยรวมได้ว่า AI เป็นระบบที่สามารถทำความเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ สมกับชื่อ “ปัญญาประดิษฐ์” นั่นเอง โดยตามทฤษฎีแล้ว AI สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ วัดจากระดับความรู้ความสามารถเมื่อเปรียบเทียบกับความฉลาดของมนุษย์ได้ดังนี้

  • Artificial Narrow Intelligence (ANI) หรือที่มีชื่อเล่นว่า “Weak AI” เป็น AI ที่มีขึ้นเพื่อการทำงานเฉพาะด้านและยังต้องการการแทรกแซงจากมนุษย์เพื่อให้สามารถทำงานได้ เช่น การใส่ข้อมูลเพื่อให้ AI เรียนรู้ได้ในงานที่รับมอบหมาย โดย AI ในระดับนี้จะทำงานได้ด้วยการเลียนแบบความฉลาดของมนุษย์ในการประมวลผลรูปแบบของข้อมูล ทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในการทำงานเฉพาะด้านและสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์เพื่อเพิ่มคุณภาพและลดระยะเวลาหรือต้นทุนในการทำงานเมื่อเทียบกับปกติได้
  • Artificial General Intelligence (AGI) เป็นส่วนหนึ่งของ “Strong AI” โดยในปัจจุบันยังเป็นเพียงแนวคิดในเชิงทฤษฎีเท่านั้น ซึ่ง AI ในระดับนี้จะมีความฉลาดในการเรียนรู้และประมวลผลเทียบเท่ากับมนุษย์ รวมถึงสามารถตระหนักรู้ถึงตัวตนของตัวเอง (Self-awareness) คล้ายกับมนุษย์เลยทีเดียว โดยแนวคิด AGI จะพบเห็นได้บ่อยครั้งจากตัวละครหุ่นยนต์หรือระบบในนิยายวิทยาศาสตร์ (sci-fi) ที่มีระบบความคิดเป็นของตัวเองและสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาหรือการพัฒนาทักษะและความรู้ต่อยอดไปอีก
  • Artificial Super Intelligence (ASI) เป็นส่วนหนึ่งของ “Strong AI” โดยเป็น AI ที่มีความรู้ความสามารถเหนือไปกว่าความฉลาดของมนุษย์ในทุกด้านทุกสถานการณ์ไปเสียอีก ซึ่งสุดท้ายแล้วจะมาแทนที่บทบาทในการคิดวิเคราะห์ของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในปัจจุบัน ASI ยังเป็นเพียงแนวคิดในอนาคตเพียงเท่านั้น

การใช้งาน AI ที่เราเห็นมาร่วมหลายปีในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับของ ANI เพียงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น Siri ของ Apple หรือ Alexa ของ Amazon หรือ Watson ของ IBM หรือรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles) หรือแม้กระทั่ง ChatGPT ที่กำลังนิยมในทุกวันนี้ ซึ่งเราอาจได้เห็นตัวอย่างการใช้ ChatGPT จาก Social Media หรือสื่อต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหรือการหาข้อมูลมาแล้ว

ความนิยมของ ChatGPT นอกจากจะมาจากการเปิดให้บริการเป็นสาธารณะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้งานได้สะดวก อีกส่วนหนึ่งยังมาจากความสามารถของ ChatGPT ที่ตอบโต้ได้คล้ายคลึงกับการพูดคุยกับมนุษย์ และการเรียนรู้เองของระบบจากข้อมูลที่ผู้ใช้งานป้อนเข้าไป จนกระทั่งสื่อหลายสำนักให้คำนิยาม ChatGPT ว่าเป็นถึง human-like AI chatbot เลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของการพัฒนา AI ให้ใกล้เคียงกับอีกระดับขั้นของ AI หรือระดับ AGI ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ChatGPT ไม่ได้สร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแค่ในกลุ่มผู้ใช้งานเพียงเท่านั้น แต่ยังสร้างกระแสให้เกิดการพัฒนา AI Chatbot ของบริษัทเทคโนโลยีเจ้าอื่นตามมา อย่างเช่น Bing Chat ของ Microsoft หรือ Bard ของ Google รวมถึง OpenThaiGPT ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มจากสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) ร่วมกับสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) และอาสาสมัครรายอื่นๆ ที่มีความสามารถ เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และยังผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอด AI ของประเทศไทยจากการเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถนำ AI Chatbot สัญชาติไทยนี้ไปพัฒนาต่อยอดได้อีก จึงถือได้ว่า ChatGPT ไม่ได้กระตุ้นเพียงให้เกิดกระแสในปัจจุบันเท่านั้น แต่อาจยังเป็นตัวเร่งที่เติมเชื้อเพลิงให้เกิดการพัฒนาต่อยอด AI ไปได้ในอีกสักระยะเลยทีเดียว โดยในอนาคตเราอาจจะเห็นตัวอย่างการพัฒนา AI ในมุมอื่นๆ ไปในทิศทางที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นนอกเหนือจากการพัฒนา Chatbot ที่เห็นในปัจจุบันก็เป็นได้

ที่มา: IBM, Emerging Information and Technology Conference (EITC), Thansettakij, Tiktok, YouTube

Contact
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สอบถามทางโทรศัพท์
+66 2 677 7270-5
10th Floor, Q. House Lumpini Building,
No. 1 South Sathorn Road, Tungmahamek, Sathorn, Bangkok 10120, Thailand