สำหรับประเทศไทย ในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 3 ได้บัญญัติว่า ผู้สูงอายุ หมายถึง “บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย” โดยมีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Completely Aged Society) หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ. 2567 และกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ซึ่งหมายถึงสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ. 2575
จากบทความของ John Parker ใน The Economist กล่าวว่า ปีค.ศ. 2020 เป็นจุดเริ่มต้นทศวรรษของ YOLD ซึ่งคำว่า “YOLD” นี้มีที่มาจากประเทศญี่ปุ่น มาจากคำว่า “Young Old” หมายถึงผู้สูงอายุที่ยังมีความกระฉับกระเฉงเหมือนหนุ่มสาว มีสุขภาพแข็งแรง มีอายุ 65-75 ปีตามนิยามของคนญี่ปุ่น รวมถึงยังมีสถานะทางการเงินที่ดี มีทรัพย์สินมากพอไว้ใช้ในยามชรา
สำหรับธุรกิจในประเทศที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มโยลด์ (YOLD)จากข้อมูลของ K SME analysis พบว่าโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุกลุ่ม YOLD จะประกอบด้วย 1) ธุรกิจที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ – โดยที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่มีราคาไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อยูนิท พร้อมกับบริการทางการแพทย์ และสิ่งอำนวยความสะดวก น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการมากขึ้นในปัจจุบัน2) ธุรกิจอาหารเสริม และของใช้ส่วนตัวสำหรับผู้สูงอายุ – นอกจากหลักโภชนาการที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงแล้ว รูปแบบและลักษณะอาหารเสริมแต่ละชนิดควรสะดวกต่อการบริโภค ที่ไม่ยุ่งยากมากเกินไป ในส่วนของใช้ส่วนตัว ควรที่ต้องเหมาะกับกลุ่ม YOLD ให้มากที่สุดด้วย3) ธุรกิจบริการและกิจกรรมสันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ – รูปแบบการท่องเที่ยวแบบเชิงสุขภาพ หรือวัฒนธรรมจะตอบความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ ดังนั้นผู้ประกอบการควรจัดให้มีทั้งผู้ดูแลอย่างทั่วถึง รวมทั้งมีประกันอุบัติเหตุ และมีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ พื่อสร้างความมั่นใจ และ 4) ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ – ความปลอดภัยผุ้สูงอายุเป็นสิ่งสำคํญลำดับต้นๆ ในการทำธุรกิจกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ ฉะนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่ปลอดภัยที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ ในทุกๆ มิติจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ จากข้อมูลข้างต้น ทาง SBCS เชื่อว่ายังคงมีอีกหลายธุรกิจที่จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มโยลด์ (YOLD) ได้ ซึ่งเปรียบเสมือนน่านน้ำสีครามที่ยังมีความหวังสำหรับผู้ประกอบการในประเทศไทยต่อไป