โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor(EEC) หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ อีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard) เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ใน 3 จังหวัดพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
EEC มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่มีความพร้อมรับกับทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือแหลมฉบัง หนึ่งในท่าเรือน้ำลึกหลักสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งล่าสุดทาง EEC มีแผนที่จะพัฒนาท่าเรือแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของภูมิภาคอินโดจีนและประตูการค้าสำคัญที่สามารถรองรับตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นและรองรับการขนส่งของอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ EEC ยังอยู่ระหว่างพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ให้มีความรวดเร็วและสะดวกสบายด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง และยังมีแผนที่จะพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะสามารถรองรับการขนส่งได้ 31 ล้านตันต่อปี
ภาพรวมพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC)
สำหรับนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาเริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ทาง EEC ได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแผนการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาลไว้ 12 กลุ่ม ได้แก่
การยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (First S- curves)
- อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
- อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
การต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S – curves)
- อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
- อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
- อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
- อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมดิจิตอล
- อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
- อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา
เพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ EEC ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มอบให้สิทธิประโยชน์ทางการลงทุนให้แก่นักลงทุนที่เข้าเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต การให้สิทธิ์ในการเช่าที่ดินและอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการ เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนและการวิจัยและพัฒนา รวมถึงบริการ One-stop Service ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และ อื่นๆ
EEC
จึงเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเติบโตของนักลงทุนที่จะช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานใหม่ๆและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งยังยกระดับประเทศไทยไปสู่ความมีเสถียรภาพทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย