ข้อตกลงการค้าเสรี RCEP และประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ

 หลังจากที่ข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลกอย่าง The  Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP)  หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนต่างจับตามองว่าความร่วมมือทางการค้านี้จะสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกรวมถึงประเทศไทยอย่างไรบ้าง บทความนี้จะช่วยตอบคำถามนี้และสรุปประเด็นสำคัญที่นักลุงทุนควรทราบ

ในภาพรวม RCEP เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ( ไทย กัมพูชา บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) และ 5 ประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลกครอบคลุมประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก) GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก) และมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก) โดยความร่วมมือนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และห่วงโซ่การผลิตของกลุ่มประเทศสมาชิกโดยเฉพาะในทวีปเอเชียให้มีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

สิทธิประโยชน์หลักที่ไทยจะได้จาการเข้าร่วมข้อตกลงนี้ คือการยกเลิกภาษีนำเข้าของสินค้าจำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ โดยจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะยกเลิกภาษีศุลกากรเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่สำหรับสินค้าประเภท ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น นอกจากนี้ RECP ยังช่วยดึงดูดนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ (FDI) ที่เล็งเห็นถึงข้อได้เปรียบในการแข่งขันและต้องการสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีความได้เปรียบในการผลิตและส่งออก ท้ายที่สุดจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมทั้งภาคการเงิน การลงทุน และการจ้างงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามการลดภาษีนำเข้าส่งออกอาจส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ในประเทศและอาจก่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาในที่สุด นอกจากนี้การดึงดูด FDI ของไทยยังคงต้องแข่งขันกับประเทศอาเซียนอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซียที่มีศักยภาพในการค้าและการลงทุนไม่แพ้ไทย ดังนั้น การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนเพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนให้สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากข้อตกลงนี้จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุดได้

Contact
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สอบถามทางโทรศัพท์
+66 2 677 7270-5
10th Floor, Q. House Lumpini Building,
No. 1 South Sathorn Road, Tungmahamek, Sathorn, Bangkok 10120, Thailand