หลายคนคงสงสัยว่า ตัวอักษรภาษาอังกฤษ 5 ตัวนี้ “CPTPP” คืออะไร แล้วทำไมหลายภาคส่วนถึงให้ความสนใจ ข้อตกลงทางการค้า “ซีพีทีพีพี” (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) เป็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง 11 ประเทศ ในแถบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วย ออสเตรเลีย, บรูไน ดารุสซาลาม, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยพัฒนามาจากการเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ “ทีพีพี” (Trans-Pacific Partnership: TPP) ซึ่งเดิมทีมี “สหรัฐอเมริกา” รวมอยู่ด้วยก่อนที่ภายหลังจะถอนตัวออกมา ซึ่งข้อแตกต่างระหว่าง CPTPP กับ TPP คือขนาดของเศรษฐกิจ และการค้าที่เล็กลง แต่มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น
CPTPP จะส่งผลดีกับประเทศอื่นๆ อย่างไร
ประเทศญี่ปุ่น – องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เปิดเผยว่า มีการศึกษาผลจากการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจประมาณ 7.5% ของ GDP ซึ่งมากกว่าข้อตกลงที่ทำกับสหภาพยุโรป(อียู)โดยที่ CPTPP จะมีการลดภาษีสินค้าถึง 95% ซึ่งนอกจากประโยชน์ที่จะได้จากการส่งออก ญี่ปุ่นยังมองถึงการเชื่อมโยงประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมธุรกิจ E-commerceที่ จะช่วยเสริมธุรกิจภาคบริการของและดิจิทัลของญี่ปุ่นในอนาคต
ประเทศเวียดนาม – เวียดนามได้เข้าร่วม CPTPP ตั้งแต่ปี 2519 (พ.ศ. 2562) และหลังจากนั้น 1 ปี เวียดนามพบว่ามูลค่าการส่งออกสูงถึง 4.11 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถ้านับเฉพาะในกลุ่มลาตินอเมริกา (เม็กซิโก เปรู และชิลี) เป็นการเติบโตสูงถึง 26.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 (พ.ศ. 2562) โดยเฉพาะกับประเทศชิลีที่เติบโตสูงถึง 36.40%
นอกจากตัวอย่าง 2 ประเทศที่เป็นสมาชิก CPTPP แล้วยังมีประเทศที่อยากจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP อาทิเช่น สหราชอาณาจักร – รัฐบาลสหราชอาณาจักรให้เหตุผลเบื้องต้นไว้ 3 ข้อ คือ CPTPP จะช่วย 1) เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน, 2) ทำให้การเชื่อมโยงการค้าและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chains) มีความหลากหลาย และ 3) ทำให้มั่นใจได้ว่าในอนาคต สหราชอาณาจักรจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก สร้างประโยชน์ให้ประเทศในระยะยาว
โอกาส และผลกระทบ ถ้าประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP
ปัจจัยเกื้อหนุนของประเทศไทยหากรัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลง CPTPP คือ 1) การส่งออก CPTPP คือจะเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย 2) การลงทุนจากต่างประเทศ การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP และ 3) ความสามารถทางการแข่งขัน CPTPP จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP ที่ได้ชื่อว่าเป็นความตกลงทางการค้าคุณภาพสูง
ขณะเดียวกันจะมี 2 ธุรกิจของไทยที่โดนผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP คือ
ธุรกิจบริการ – CPTPP ใช้เงื่อนไขการเจรจาแบบ negative list หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรี หมายความว่าประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนหมวดธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้เลือกไว้ในข้อตกลงจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น สำหรับไทยที่เป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดในหมวดบริการ การเปิดเสรีนี้อาจทำให้ธุรกิจบริการภายในประเทศเสียประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติในอนาคต
อุตสาหกรรมเกษตร- มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย และถั่วเหลือง ที่จะเข้ามาตีตลาดไทยหลังการเปิดเสรีด้านการค้า นอกจากนี้ CPTPP ยังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้ ข้อนี้ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้ว จะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะร่วมเจรจรา และตกลงเข้าเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรีใดๆ จะต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการทำงาน ทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้สิทธิ และโอกาส รวมถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับ และการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งทางผู้เขียน และบริษัท SBCS จำกัด หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจเกี่ยวข้องจะมีมติที่เป็น “The Right Choice and The Right Decision” สำหรับประเทศไทย และนักลงทุนในอนาคตต่อไป