ส่องสถิติการลงทุนจากต่างชาติของกลุ่มประเทศอาเซียน

อ้างอิงจากรายงานของ Milken Institute กลุ่มประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกเป็นพิเศษและมีการลงทุนอย่างเข้มข้นแม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่องยังคงเป็นกลุ่มของประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนาในทวีปเอเชีย (Emerging and Developing Asia) โดยสามารถดึงดูดเงินทุนได้กว่าครึ่งหนึ่ง (53.2%) ของทุนทั้งหมดที่ลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่และประเทศพัฒนาทั่วโลกในปี 2018 – 2022 ตามรายงานของ Milken Institute

เมื่อพิจารณาความดึงดูดในการลงทุนเป็นรายประเทศในโซนเอเชียพบว่านอกจากสิงคโปร์ที่อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มาเลเซีย ไทย และจีน ถือเป็น Top 3 ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนาที่มีปัจจัยเอื้อต่อการลงทุนมากที่สุดตามลำดับ โดยเทียบจากดัชนี Global Opportunity Index หรือ GOI ที่จัดทำโดย Milken Institute จากการพิจารณาประเทศใน 5 กลุ่มปัจจัย ประกอบด้วย การรับรู้ในธุรกิจ (Business perception) โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (Economic fundamentals) บริการทางการเงิน (Financial services) กรอบแนวคิดเชิงสถาบัน (Institutional Framework) และการมีมาตรฐานและนโยบายระหว่างประเทศไทย (international standards & policy) เพื่อจัดลำดับประเทศที่มีความดึงดูดในการลงทุนมากที่สุดจากความสามารถในการรองรับการลงทุนดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยถึงแม้ว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะมีเสถียรภาพและระบบที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนมากกว่า แต่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนากลับเป็นทางเลือกยอดนิยมในกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่สูง

Global Opportunity Index (GOI) of Emerging and Developing Asian countries.

(Source: Milken Institute)

เมื่อเทียบลำดับการเติบโตของมูลค่าการลงทุนของประเทศกลุ่มอาเซียนในช่วงปี 2019 – 2022 พบว่าสองอันดับแรก ได้แก่ มาเลเซียและไทย ค่อนข้างสอดคล้องกับการจัดลำดับ GOI ดังที่กล่าวมาก่อนหน้า ในขณะที่พม่าเป็นอันดับที่สามที่มีการเติบโตมูลค่าการลงทุนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนแล้วพบว่าจำนวนเงินลงทุนเข้าประเทศพม่ายังอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่เหลือ

Flows of Inward Foreign Direct Investment (FDI) to ASEAN Countries (Million USD).

(Source: ASEAN Statistics Division)

สำหรับประเทศที่เลือกลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยมีมูลค่าการลงทุนสะสมในช่วงปี 2018 – 2022 มากที่สุด คือ นักลงทุนจากญี่ปุ่น ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ในขณะที่จีนครองที่ 4 จากการจัดลำดับดังกล่าว โดยประเทศไทยติดอันดับที่ 9 ของประเทศที่มีการลงทุนภายในประเทศภูมิภาคอาเซียนมากที่สุดเช่นเดียวกัน

Flows of Inward Foreign Direct Investment (FDI) into ASEAN by Source Country (Million USD).

(Source: ASEAN Statistics Division)

ดังนั้น จากสถิติที่ได้กล่าวมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ทำให้สามารถเห็นได้ชัดเจนว่าตลาดภูมิภาคอาเซียนยังคงมีความน่าดึงดูดในการลงทุน ก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเข้มข้นระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนในการเสนอเงื่อนไขเพื่อดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศตนเองให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงประเทศไทยที่มีการวางโครงสร้างการลงทุนอย่างเป็นระบบและมีการสนับสนุนผู้ลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2023 ทาง The Board of Investment of Thailand (BOI) ได้ประกาศสถิติการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยโดยพบว่าจำนวนโครงการในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์และเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุนมีจำนวนมากที่สุด และเมื่อจัดลำดับแหล่งที่มาของเงินทุนพบว่า จีน เป็นประเทศที่มีจำนวนโครงการและเงินลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดในปี 2023

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะจัดอยู่ในลำดับต้นๆ สำหรับประเทศอาเซียนที่มีความดึงดูดในการลงทุนและมีการลงทุนมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่างก็มีการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมาเช่นเดียวกันเพื่อที่จะรองรับการลงทุนจากต่างชาติดังกล่าวโดยเฉพาะทุนจากจีนซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้การลงทุนจากต่างชาติหลักให้กับประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมา ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ควรนิ่งนอนใจและยังควรพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าขึ้นไปอีกเพื่อให้ยังคงสามารถรักษาฐานผู้ลงทุนในปัจุบันอย่างเหมาะสมและรองรับการลงทุนจากต่างชาติได้อีกในอนาคต

ที่มา: Milken Institute, ASEAN Statistics Division, The Board of Investment of Thailand

Contact
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สอบถามทางโทรศัพท์
+66 2 677 7270-5
10th Floor, Q. House Lumpini Building,
No. 1 South Sathorn Road, Tungmahamek, Sathorn, Bangkok 10120, Thailand